ในช่วงเวลานี้ คำว่า Soft Power ไทยกำลังเป็นที่กล่าวถึงไปทุกภาคส่วนเพื่อใช้เป็นนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยทั้งด้านอุตสาหกรรมอาหาร การท่องเที่ยว ภาพยนต์ กีฬา รวมถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่ง “กางเกงช้าง” เป็น 1 ใน Soft Power ด้านสิ่งทอและไม่ใช่แค่กางเกงช้างเท่านั้นที่กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลาย แต่ยังกระจายไปสู่การออกแบบลวดลายกางเกงประจำจังหวัดต่าง ๆ อีกด้วย เช่น กางเกงแมว-นครราชสีมา กางเกงลิง-ลพบุรี กางเกงวัวลาน-เพชรบุรี เป็นต้น เป็นการขานรับกับนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความรู้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม “กางเกงช้าง” หนึ่งในผลิตภัณฑ์ของไทยที่ชาวต่างชาติชื่นชอบจึงกลายเป็น Soft Power ที่สร้างรายได้มหาศาลควบคู่ไปกับข่าวดราม่าเรื่องการทะลักเข้ามาของกางเกงช้างจากประเทศจีน
ต้นกำเนิดของ “กางเกงช้าง” เริ่มมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเพื่อเข้าชมพระบรมมหาราชวังที่มีข้อกำหนดเรื่องการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย นักท่องเที่ยวบางรายสะดวกสวมใส่กางเกงหรือกระโปรงสั้นเพราะบ้านเราเป็นเมืองร้อน จึงจำเป็นต้องซื้อกางเกงช้างที่มีวางขายอยู่แถวถนนหน้าพระลานมาสวมทับไว้ เมื่อคนทางบ้านเห็นรูปถ่ายแล้วเกิดชอบใจอยากได้บ้าง จนกลายเป็นของฝากยอดนิยม ประกอบกับที่กางเกงช้างตัดเย็บแบบ Free Size รูปร่างลักษณะใดก็สวมใส่ได้ เนื้อผ้านุ่มเบาทำให้รู้สึกเย็นสบาย ต่อมาในปี 2013 นักท่องเที่ยวหนุ่มชาวอเมริกัน 2 คน Nathan Coleman และ James Books ได้ซื้อกางเกงช้างกลับไปเป็นของฝากเป็นที่ถูกอกถูกใจเพื่อน ๆ ของพวกเขาอย่างมาก จนทำให้ทั้ง 2 มองเห็นช่องทางการทำธุรกิจจากกางเกงช้าง เกิดเป็นแบรนด์ “The Elephant Pants” ขึ้น ซึ่งการผลิตผ้าและกระบวนการตัดเย็บเกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งหมด จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ในราคาตัวละ 800 บาท และในระยะเวลา 2 ปี สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 230 ล้านบาทไทย
ในช่วงที่กางเกงช้างยังตัดเย็บด้วยผ้าที่ทอและพิมพ์ลวดลายในประเทศไทย สกุณา พฤทธ์กิตติวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮุยกี่การทอ จำกัด ผู้ผลิตผ้าฝ้าย100% ให้ข้อมูลว่า สามารถทำยอดจำหน่ายผ้าพิมพ์ลายช้างได้ถึง 17.5 ล้านบาท / ปี และต้องเร่งกำลังการผลิตให้ได้ไม่ต่ำกว่า 500,000 หลา / ปี แต่เมื่อ 5-6 ปี ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ Covid-19 กางเกงช้างตัดเย็บสำเร็จรูป รวมถึง ผ้าผืนพิมพ์ลายช้างจากประเทศจีนได้เข้ามาจำหน่ายตัดราคาผ้าและกางเกงช้างของไทย จากที่เคยจำหน่ายได้ในราคาตัวละ 200-300 บาท กลับถูกมองว่า ราคาแพงเกินไป เพราะกางเกงช้างของจีนราคาเพียงตัวละ 30-90 บาทเท่านั้น ส่งผลให้ยอดการสั่งผลิตผ้าพิมพ์ลายช้างลดลงอย่างรวดเร็ว จนบริษัทต้องยุติการผลิตแล้วหันไปจับกลุ่มลูกค้าใหม่ที่สนใจและชื่นชอบผ้าพิมพ์ลายชายหาดริมทะเลที่ยอมรับได้กับราคาของผ้าฝ้าย100% ทำให้สามารถกล่าวได้ว่า กางเกงช้างที่วางจำหน่ายกันอยู่ในปัจจุบันนี้ แม้บางรายจะมีกระบวนการตัดเย็บในประเทศไทย แต่ไม่มีการใช้ผ้าที่ทอในประเทศไทยเลยแม้แต่รายเดียว
จากการที่ บริษัท ฮุยกี่การทอ จำกัด ได้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม (DIPROM Thailand Textiles Tag) ในปีงบประมาณ 2567 ทำให้บริษัทฯ มีแนวคิดที่จะฟื้นฟูการผลิตผ้าฝ้าย 100% ทอและพิมพ์ลายช้างกลับมาอีกครั้ง ทั้งจากนโยบาย Soft Power และกระแสความนิยมของนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกและเหล่าศิลปินจีน ไอดอลเกาหลีใต้ โดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อผ้าที่ผ่านการทดสอบ ตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ของเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag ทั้งด้านความแข็งแรงของเนื้อผ้า ความคงทนของสีต่อการซักและแสง หมายถึง สีไม่ตกเมื่อซักและไม่ซีดจางเมื่อตากแดด รวมถึง ปราศจากสารเคมีอันตรายทั้งสารฟอร์มาลดีไฮด์และสีเอโซ สารต้องห้ามที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้หากสัมผัสในปริมาณมาก
นอกจากจะให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพของเนื้อผ้าแล้ว บริษัทฯ ยังพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบ คือ เส้นใยฝ้าย คุณภาพดีมาใช้ในการทอเพราะจะทำให้เนื้อผ้ามีความคงทน ไม่ขึ้นขนและเม็ดเมื่อผ่านการซักหลายครั้ง เอาใจใส่ในทุกขั้นตอนการผลิตรวมทั้งตรวจสอบคุณภาพตั้งแต่สืบเส้นด้าย ทอเป็นผืน จนถึงการพิมพ์ลวดลายที่มีสีสันสดใส ลายเส้นคมชัด นอกจากนี้ ยังมีนโยบายพร้อมรองรับหากมีข้อร้องเรียนเพื่อให้ลูกค้าได้รับผลิตภัณฑ์คุณภาพและมีความพึงพอใจสูงสุด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ของเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag ที่บริษัทฯ ได้รับคำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการจัดระบบควบคุมคุณภาพกระบวนการผลิตจนผ่านการรับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag เครื่องหมายที่ช่วยยืนยันว่า เป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอคุณภาพที่ผลิตโดยคนไทย
การเข้าร่วมกิจกรรมฯ กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้ผลิตผ้าฝ้าย 100% ทอและพิมพ์ลายช้างมาออกแบบตัดเย็บเป็น Collection และได้รับคัดเลือกให้แสดงผลงานผ่าน Mini Fashion Show ในพิธีปิดและมอบวุฒิบัตรแก่ผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag ปีงบประมาณ 2567 ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ณ เจริญนคร ฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม เป็นการยกระดับสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและหันกลับมาสนับสนุนสินค้าของไทย ลดการนำเข้าสินค้า Fast Fashion ราคาถูกและด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะต่อยอดขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มผู้ผลิตและนักออกแบบลวดลายกางเกงประจำจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงการส่งออกไปยังลูกค้าโซนยุโรป ซึ่งบริษัทฯ มีความคาดหวังว่า กางเกงช้างที่ผลิตจากผ้าทอของคนไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง โดยตั้งเป้าหมายสร้างยอดจำหน่ายให้เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 15% ด้วยจุดแข็งเรื่องความสวยงาม ความคงทนและคุณภาพระดับมาตรฐานสากลที่ได้รับการการันตีด้วยเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag
เพราะอยากให้ “กางเกงช้าง” เป็น Soft Power ไทยที่ใคร ๆ ได้สวมใส่แล้วอวดได้ว่า ฉันใช้ “กางเกงช้าง” จากผ้าทอของประเทศไทยและตัดเย็บโดยคนไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ